สร้างบ้านเอง ต้องใช้งบเท่าไหร่

สร้างบ้าน

สร้างบ้านเอง ต้องใช้งบเท่าไหร่

ความฝันของคนเราที่ฝันไว้ตรงกัน คือ ต้องการมีบ้านหลังเล็ก ๆ สักหลังไว้เป็นที่หลบร้อนหลบฝน และให้ความรู้สึกที่ปลอดภัยไปพร้อมกัน แต่สำหรับคนที่ไม่ได้ทำธุรกิจหรือไม่ได้ร่ำรวย เป็นแค่มนุษย์เงินเดือนพร้อมครอบครัวเล็ก ๆ บางครั้งความฝันที่จะมีบ้าน หรือสร้างบ้านอยู่สักหลัง อาจเป็นความคิดที่เพ้อฝันลม ๆ แล้ง ๆ ก็ได้

คำถามที่คนเราอยากรู้อันดับแรกเมื่อต้องการสร้างบ้านเอง คือ ต้องมีหรือใช้งบประมาณเท่าไหร่ เพราะเป็นอสังหาริมทรัพย์ที่ราคาสูงและถาวร หากไม่รู้เรื่องงบประมาณเอาไว้บ้าง อาจทำให้เกิดการขัดสน เนื่องจากงบบานปลายได้

ขั้นตอนการวางแผนเรื่องงบประมาณนั้น สำคัญอย่างยิ่ง การสร้างบ้านเองสักหลังต้องเก็บเงินอีกสักกี่ปีถึงจะก่อสร้างได้ ถ้าใจเย็นรอต่อไปก็คงต้องอยู่ห้องเช่า อยู่คอนโด หรืออาศัยบ้านพ่อ บ้านแม่อยู่กันต่อไป แต่ถ้าฝันอยากจะมีบ้านเป็นของตัวเองมันต้องสู้ และลงมือสร้างฝันให้เป็นจริง เริ่มด้วยการศึกษารายละเอียด ข้อมูลเกี่ยวกับการสร้างบ้าน เช่น งบประมาณการปลูกบ้านกันก่อน แล้วนำเรื่องไปปรึกษากับธนาคาร ที่สำคัญที่สุด คือ ณ เวลานี้เรามีเงินสดอยู่ในมือทั้งหมดเท่าไร และตั้งงบการปลูกบ้านไว้เท่าไร

วิธีการคำนวณค่าก่อสร้างบ้านโดยประมาณ มีวิธีการขั้นแรกง่าย ๆ ในการประมาณราคาค่าก่อสร้าง ด้วยการใช้ราคาต่อตารางเมตรคูณกับพื้นที่ใช้สอย ส่วนใหญ่แล้วคนเราจะสนใจราคาบ้านเดี่ยวที่ก่อสร้างด้วยอิฐฉาบปูนหรือบ้านตึก เพราะไม้จะไม่ได้เป็นวัสดุก่อสร้างหลักอีกต่อไป เนื่องจากหายากและมีราคาที่แพงกว่า คนทั่วไปจึงหันมานิยมปลูกบ้านเป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก หรือที่เรียกกันว่าบ้านตึกมากกว่า จำนวนชั้นที่นิยมก็คงเป็น 1-3 ชั้น จะมีราคาให้เลือกได้ทั้งราคาสูง กลาง และต่ำ เป็นราคาต่อตารางเมตร ถ้าใช้วัสดุก่อสร้างมาตรฐานธรรมดาไม่หรูหรามาก ก็ใช้ราคาต่ำ แต่ถ้าต้องการดีขึ้นมาหน่อยก็ได้แก่ราคากลาง ถ้าต้องการใช้วัสดุก่อสร้างดี ๆ ก็ต้องยอมรับที่ราคาจะต้องสูงขึ้นไป เช่น บ้านตึก 2-3 ชั้น ราคาเริ่มต้นอาจอยู่ที่ 10,100 บาท/ตารางเมตร และสูงขึ้นไปก็จะอยู่ที่ 14,300 บาท/ตารางเมตร เป็นต้น

หลังจากการคำนวณพื้นที่ใช้สอยที่ต้องการแล้ว ก็ให้นำจำนวนตารางเมตรที่จะก่อสร้าง ไปคูณกับราคาต่อตารางเมตร ท่านก็จะได้ราคาค่าก่อสร้างโดยประมาณ ซึ่งจะทำให้รู้ว่าราคาจะอยู่ในงบประมาณที่เราตั้งไว้หรือไม่ โดยท่านสามารถปรับเพิ่มลดได้ตามต้องการ เช่น ลดหรือเพิ่มพื้นที่ในการใช้สอย หรือไม่ก็ปรับปรุงเกรดของวัสดุที่จะใช้ ทั้งนี้ราคาที่ได้เป็นเพียงราคาประเมินแบบหยาบ ๆ เท่านั้น ยังมีส่วนที่อาจแปรผันได้อีก เช่น ถ้าต้องเปลี่ยนเป็นเสาเข็มเจาะ ก็อาจต้องมีราคาที่แพงขึ้น หรือถ้าต้องการความพิเศษมากขึ้นไปอีก เช่น ทำห้องใต้ดิน หรือสระว่ายน้ำ ซึ่งเป็นออพชั่นเสริมที่ต้องมีการประเมินราคาเป็นอย่าง ๆ โดยละเอียดอีกทีหนึ่ง